ฐานราก คือ ส่วนสำคัญในการสร้างบ้าน ซึ่งเราเคยพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ ฐานรากที่มีเสาเข็มและฐานรากที่ไม่มีเสาเข็ม รวมถึงปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้เสาเข็มหรือไม่ในการสร้างบ้าน ในครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับประเภทของฐานรากทั้ง 5 รูปแบบ กันบ้าง
1. ฐานแผ่เดี่ยว (Spread Footing) หมายถึงฐานรากที่รับน้ำหนักจากเสาอาคาร เพียงต้นเดียว แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่พื้นดิน แต่ถ้าหากเสาวางอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของฐานราก จะเรียกว่าฐานรากตีนเป็ด
2. ฐานต่อเนื่องรับกำแพง (Continuous Footing) หมายถึงฐานรากที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักจากผนังก่ออิฐ หรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กของอาคารหลายๆ ชั้น ขนาดความกว้างของฐานรากขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่กดลงสู่ฐานราก
3. ฐานรากแบบปูพรมหรือฐานแพ (Mat or Raft Foundation) เป็นฐานร่วมขนาดใหญ่ใช้รับน้ำหนักบรรทุก เสาหลายต้น โดยจะแผ่บนพื้นที่กว้าง ข้อดีของฐานรากชนิดนี้คือ กระจายน้ำหนักสู่ดิน หรือหินเบื้องล่างได้ดีกว่าและปัญหาการทรุดตัวต่างระดับแทบหมดไป แต่การก่อสร้างนั้นยุ่งยาก สิ้นเปลือง และไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีถังบำบัดหรือถังเก็บน้ำใต้ดินฝังอยู่
4. ฐานแผ่ร่วม (Combined Footing) รูปแบบฐานรากที่ใช้แก้ปัญหา กรณีที่ไม่สามารถสร้างฐานรากเดี่ยวที่สมมาตรได้ เพราะฐานรากที่ไม่สมมาตรจะทำให้เกิดแรงเยื้องศูนย์ เป็นผลทำให้อาคารทรุดตัวได้
5. ฐานรากชนิดมีคานรัด (Cantilever Footing) เป็นการแก้ปัญหากรณีไม่สามารถสร้างฐานรากที่สมมาตรได้อีกวิธีหนึ่ง เหมาะกับเสาของอาคารที่มีความจำเป็นต้องสร้างประชิดติดกับอาคารเดิม หรือแนวเขตดินที่ไม่สามารถวางตำแหน่งของฐานให้ตรงกับแนวเสาตอม่อได้ จึงออกแบบให้มีคานคอนกรีตแบกรับน้ำหนักจากเสาตอม่อ
ในการทำฐานราก ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษตั้งแต่การเลือกใช้ฐานรากตามสภาพของดิน ควรใช้วัสดุก่อสร้างตามแบบวิศวกรรมโดยเคร่งครัด และ เลือกรูปแบบฐานรากให้เหมาะสมกับงานก่อสร้าง ภายใต้การดูแลจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนเราก็ควรมีความรู้เบื้องต้นไว้ติดตัวเองบ้าง เพราะอย่างน้อย ก็จะช่วยให้เราเข้าใจงานสร้างบ้านมากขึ้น และ เมื่อสงสัยก็สอบถามได้ถูกจุด นั่นเอง
ติดตามข้อมูลความรู้ดีๆเรื่องการสร้างบ้านที่อ่านและเข้าใจง่ายได้ที => LANDYHOMEonline (คลิกเลย)